ในการบันทึกเสียงเข้าคอมพิวเตอร์ผ่าน Audio Interface นั้น ทุกคนจะต้องเคยเจอปัญหานี้แน่ๆครับ นั่นก็คือ เราจะได้ยินเสียงที่เรากำลังจะบันทึกด้วย DAW นั้นช้ากว่าความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น เราจะบันทึกเสียงกีต้าร์ โดยเสียบเข้าที่ input ของ Audio Interface พอเราดีดสายกีต้าร์แล้ว จะได้ยินเสียงจาก ลำโพงมอนิเตอร์ หรือ หูฟัง ช้ากว่าตอนที่เราดีด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบันทึกเสียงอย่างมากครับ
มาดูกันว่าปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากอะไร ลองดูจากรูปภาพด้านล่างนี้ครับ
จากรูปภาพ อธิบายการทำงานคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เมื่อเราเสียบ ไมค์ ,กีต้าร์ เข้าที่ Input ของ Audio Interface จะผ่าน Analog-to-Digital Converter (ADC) กระบวนการแปลงสัญญาณอนาล็อก (Analog) ไปเป็นสัญญาณดิจิตอล (Digital) เพื่อส่งเข้าไปยังโปรแกรม DAW ในคอมพิวเตอร์
- แล้วผ่านการประมวลผลต่างๆ ภายในโปรแกรม DAW เช่น ผ่าน Plug-ins อย่าง Compressor ,EQ ฯลฯ เป็นต้น
- จากนั้นก็ทำการส่งข้อมูลกลับมาที่ Audio Interface เพื่อทำการ Digital-to-Analog Converter (DAC) คือการแปลงจากสัญญาณดิจิตอล (Digital) กลับไปเป็นสัญญาณอนาล็อก (Analog) เพื่อส่งสัญญาณเสียงไปออกที่ลำโพงมอนิเตอร์ (Monitor Speaker) หรือ หูฟัง (Headphone)
เมื่อสัญญาณเสียงมีการเดินทางผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งแต่ละกระบวนการก็จะใช้เวลาในการทำงาน ทำให้เดินทางออกไปยัง Output ได้ล่าช้ากว่าความเป็นจริง ค่าความล่าช้าดังกล่าวนี้เรียกว่า Latency มีหน่วยเป็น Millisecond (มิลลิวินาที)
จากการที่เคยลองเล่นกีต้าร์แล้วใส่ Plug-ins อย่าง AmpliTube ,Guitar Rig ,BIAS AMP2 ไปด้วย โดยมีค่า Latency มากกว่า 5.8 ms ก็พอรู้สึกได้ถึงความหน่วงๆ ของเสียงกีต้าร์บ้างแล้วครับ
Direct Monitoring
เพื่อแก้ปัญหา Latency นั้น ผู้ผลิต Audio Interface จึงนิยมใส่ฟังก์ชั่น Direct Monitoring มาให้ด้วย
จากรูปภาพด้านบนนี้ ฟังก์ชั่น Direct Monitoring ก็คือการเชื่อมสัญญาณเสียงอีกเส้นทางนึง จาก Input ไปออกที่ Output โดยตรงเลย ซึ่งมีค่า Latency ใกล้เคียง 0 ms มากที่สุด เมื่อเราทำการบันทึกเสียงไปพร้อมกับการ Monitor เสียงร้องไปด้วย ได้อย่าง realtime ไม่หน่วงอีกแล้วครับ
แต่การในใช้ Direct Monitoring นั้น เราจะได้ยินเสียงจาก Input โดยตรง ไม่ผ่าน DAW และนั่นก็หมายความว่า คุณจะไม่ได้ยินเสียงกีต้าร์ที่ผ่านการ Processed ของ Plug-ins อย่าง AmpliTube ,Guitar Rig ,BIAS AMP2 เลย จะได้ยินเฉพาะเสียงกีต้าร์แบบเพียวๆ นั่นเองครับ กรณีนี้อาจจะเลือกที่จะไม่ใช้ฟังก์ชั่นนี้ โดยปรับให้มีค่า Latency ต่ำๆ อย่าง 5.3 ms ก็น่าจะพอรับได้ (ค่า Latency สามารถลดลงโดยการปรับที่ โปรแกรมควบคุมของ Audio Interface ได้ครับ จะลดได้มาก-น้อย ก็แล้วแต่ลความสามารถของ Audio Interface ตัวนั้นๆ จะทำได้ครับ )
การใช้งาน Direct Monitoring
ปัจจุบัน Audio Interface ในท้องตลาดแทบจะทุกตัวมีการใส่ฟังก์ชัน Direct Monitor มาให้ด้วยแล้ว การใช้งาน Direct Monitoring ก็จะคล้ายๆกัน ผมขอจำแนกออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
1. แบบปุ่ม เปิด-ปิด ได้เท่านั้น
Audio Interface ในระดับเริ่มต้น ราคาย่อมเยา มักจะมีฟังก์ชั่น Direct Monitor ซึ่งจะมีแค่ปุ่ม เปิด-ปิด เพียงเท่านั้น คือ เมื่อกดเปิดแล้ว ก็จะสามารถได้ยินเสียงจาก Input มิกซ์ 100% ไปพร้อมกับเสียง Output จากคอมพิวเตอร์ หรือ Track ใน DAW ที่ได้บันทึกไปก่อนหน้า ก็คือเสียงจากการ Playback นั่นเอง
ข้อจำกัดแบบนี้ คือ เราจะไม่สามารถบาล้านซ์ความดัง-เบา ระหว่าง เสียงจาก Input และ เสียง Output จากคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเสียง Output จากคอมพิวเตอร์อาจจะดังกลบเสียงของ Input ที่เราต้องการ Monitor
2. แบบปรับดัง-เบาได้ (ปรับได้หน้าเครื่อง)
Audio Interface ในระดับที่สูงขึ้นมาจากระดับเริ่มต้น จะมี Knob อยู่ด้านหน้าให้หมุน ทำให้เราสามารถบาล้านซ์ความดัง-เบา ระหว่าง เสียงจาก Input และ เสียง Output จากคอมพิวเตอร์ได้ หากต้องการให้เสียงฝั่งไหนดังกว่า ก็หมุนไปด้านนั้นครับ
3. แบบ Advanced (ปรับได้ยืดหยุ่น หลากหลาย ด้วยซอฟแวร์ควบคุม)
แบบนี้ก็จะเหมือนกับข้อที่ 2 เพียงแต่ ไม่มีปุ่มให้ปรับด้านหน้าเครื่องของ Audio Interface แต่สามารถเปิด ซอฟแวร์ควบคุมการทำงานของ Audio Interface ขึ้นมาแล้วปรับค่าต่างๆ ได้หลากหลายแบบ ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งซอฟแวร์ควบคุมจะมาพร้อมกับไดร์เวอร์นั่นเองครับ
จากรูปภาพด้านบน – Audio Interface ยี่ห้อ MOTU รุ่น UltraLite mk5 จะมีซอฟต์แวร์ ที่ชื่อว่า CueMix 5 ให้มาด้วย เพื่อควบคุม ปรับแต่งค่าต่างๆ ได้ รวมไปถึงการจัดการกับการ Monitor ด้วย สามารถกำหนด Routing (กำหนดเส้นทาง) ของสัญญาณ Input ,Output ได้ค่อนข้างยืดหยุ่น ได้หลากหลายมากๆ
บทสรุป
Direct Monitoring มีความจำเป็นมากๆ โดยเฉพาะในขั้นตอนการบันทึกเสียง แน่นอนล่ะ ถ้าคุณกำลังบันทึกเสียงร้องอยู่ คุณก็ย่อมอยากได้ยินเสียงตัวเอง เมื่อผ่านเข้าไมค์ไปแล้ว รวมไปถึง คุณก็ต้องฟังเสียงเครื่องดนตรีใน Track อื่นๆ ในเวลาเดียวกันกับตอนที่กำลังบันทึกเสียงร้อง
ถ้าหากการ Monitor มีความล่าช้า คือมีค่า Latency ที่สูง เราก็ไม่สามารถบันทึกเสียงร้อง หรือเครื่องดนตรี ให้ลงจังหวะพร้อมเพรียงกันได้อย่างสะดวกแน่นอนครับ
สำหรับใครที่หลงเข้ามาอ่านจนถึงตรงนี้ ไหนๆก็หลงเข้ามาแล้ว หากมีความคิดเห็นอย่างไร อย่าลืม comment ไว้ด้านล่างบทความนี้ เพื่อติชม หรือ แชร์ประสบการณ์กันด้วยนะครับ