แน่นอนจะทำงานด้านเสียงบนคอมพิวเตอร์ก็ต้องมีคอมพิวเตอร์ซักเครื่อง เราสามารถใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop PC) หรือ โน๊ตบุ๊ค (Laptops) หรือแม้แต่ iPad ก็สามารถทำงานนี้ได้ ใช้คอมฯแบบไหนดี มาดูกันว่าเราต้องพิจารณาด้วยอะไรบ้างครับ
เลือกอะไรดี Desktop PC หรือ Laptops
Desktop PC
- เหมาะสำหรับการทำงานในห้อง ไม่ค่อยได้ย้ายเครื่องออกไปข้างนอกห้องซักเท่าไหร่ เช่นงาน Mixing เป็นต้น
- Desktop PC ได้เปรียบคอมฯประเภทอื่นในแง่ของ Performance เช่น CPU ที่เร็วมาก ,RAM ที่สามารถเพิ่มได้มากกว่า ,ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5″ ซึ่งมีความเร็วในการหมุนจานถึง 7200 rpm ทำให้สามารถ เขียน/อ่าน ไฟล์ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ Laptops ส่วนมาก (99%) มีความเร็วในการหมุนจาน 5400 rpm แต่ฮาร์ดดิสแบบ Solid state ก็ยังเป็นอีกทางออกนึง
- พอร์ตเชื่อมต่อที่มากกว่าและสามารถขยายเพิ่มได้ ลองคิดดูถ้าคุณทำงานมัลติมีเดียต้องต่อพ่วงอุปกรณ์อะไรเยอะแยะไปหมด เช่น Audio Interface (USB) ,คีย์บอร์ดใบ้ (USB) ,คีย์บอร์ด/เม้าส์ (USB) ,Control Surfaces (USB) ,External Harddisk (USB) ,Card Reader (USB) ,Web Cam (USB) และอีกเยอะแยะ ลองนับจำนวนพอร์ต USB ที่ต้องใช้สิครับ Laptops มีพอไหม ? อาจจะแก้ไขด้วยการใช้ USB Hub แต่นั่นจะทำให้เกิดปัญหาคอขวดในที่สุดครับ
- ความถึกที่มากกว่า – Desktop PC มีเคสที่ใหญ่กว่า มีพัดลมระบายอากาศเยอะกว่าทำให้สามารถทำงานหนักๆ นานๆ ได้ดีกว่า ในขณะที่เครื่องไม่ร้อนมาก
- ราคา – Desktop PC ราคาถูกกว่า คุ้มค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมา นั่นหมายถึง Performance / เงิน ที่จ่าย แถมอุปกรณ์ต่อเติมจะมีราคาถูกกว่า แต่ประสิทธิภาพสูงกว่าหรือเท่ากัน เช่น RAM ,ฮาร์ดดิสก์ (ขนาด 3.5″ ราคาถูกกว่าขนาด 2.5″ ที่ใช้ใน Laptops)
Laptops
- Laptops มีความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงานสูงกว่า คุณสามารถหิ้วไปไหนก็ได้ ทำงานได้ทุกที่ (ที่ที่มีปลั๊กไฟให้เสียบหลังจากแบตเตอรี่หมด) นั่นหมายความว่า คุณสามารถทำเพลง demo ในขณะที่พักอยู่ในรีสอร์ทข้างชายหาดหรือกลางห้างสรรพสินค้า แบบชิลๆ
- ด้านแง่ของ Performance ของ Laptops อาจจะไม่แรงมากอย่างใจต้องการมากนัก เช่น CPU ที่ออกแบบมาให้ทำงานหนักในบางครั้ง ลดความเร็วลงในบางที เพื่อประหยัดการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ , RAM ที่มีช่องเสียบอย่างจำกัด หรือถูกกำหนัดมาแล้วจากโรงงาน คุณอาจจะสามารถกำหนดขนาด RAM ได้ในขั้นตอนการสั่งซื้อ Macbook Pro แต่คุณจะต้องจ่ายแพงกว่า PC เท่าตัว ,ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5″ มีความเร็วในการหมุนจาน 5400 rpm แต่ก็สามารถเลือกฮาร์ดดิสแบบ Solid state ได้ ซึ่งเร็วมาก (Desktop PC ก็ใช้ฮาร์ดดิสก์แบบนี้ได้)
- พอร์ตเชื่อมต่อที่จำกัด ด้วยโครงสร้างขนาดเล็กกระทัดรัด เน้นน้ำหนักเบา ผู้ผลิตต้องตัดบางอย่างออกไป พอร์ต USB ก็เช่นกัน อย่างใน Macbook Pro อาจจะเหลือ USB แค่ 2 พอร์ตเท่านั้น คุณอาจจะต้องเสียบถอดๆ สลับอุปกรณ์ต่อพ่วง หรือต้องหา USB Hub มาช่วย แต่นั่นจะทำให้เกิดปัญหาคอขวดตามมา
- บอบบาง – ด้วยการออกแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กกระทัดรัด เน้นน้ำหนักเบา และถูกหิ้วไปโน่นมานี่ หลุดมือ หล่นได้ง่าย พังเร็วกว่า
- ราคา – สูงกว่า Desktop PC ลองเทียบราคา RAM 8 GB สำหรับ Desktop PC กับ Laptops ดูสิ หรือ ฮาร์ดดิสก์ ขนาด 3.5″ ราคาถูกกว่าขนาด 2.5″ ที่ใช้ใน Laptops เกือบเท่าตัว
ลักษณะการทำงานของเราจะเป็นตัวกำหนดเองว่าเราจะเลือกใช้แบบไหน หากคุณชอบหอบข้าวของไปทำงานนอกสถานที่ Laptops ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จะทำให้คุณสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่หากต้องการคอมฯที่สามารถตอบโจทย์ความแรงและความยืดหยุ่นสูงในการเชื่อมต่อ การขยับขยายฮาร์ดแวร์ภายใน Desktop PC ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ระบบปฏิบัติการ (OS)
- ความถนัด – การเลือก OS ที่ถนัดและใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ต้องมาเสียเวลาเรียนรู้ OS ใหม่ แต่ถ้ามีเวลาพอ แนะนำว่าให้เรียนรู้ ให้ถนัดทั้งคู่เลยจะดีมาก ซักวันอาจจะได้ไปนั่งทำงานหน้าเครื่องที่คุณไม่ถนัดเลย
- DAW Software – ต้องดูว่าซอฟต์แวร์ด้านเสียงที่เราจะทำงานด้วย รองรับ OS ไหนบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ DAW Software แทบทุกค่ายรองรับ OS ทั้ง Windows และ Mac
- Audio Interface – ต้องดูกว่า Audio Interface ที่จะเอามาใช้รองรับ OS ไหนบ้าง ดูข้างกล่องได้เลยครับ
- มัดรวมกันมาแล้ว – Mac OS จะถูกมัดรวมกันมาพร้อมกับเครื่อง Apple เท่านั้น
สเป็คคอมพิวเตอร์ขั้นต่ำที่แนะนำ (System Requirements)
ในยุคสมัยนี้เป็นยุคที่เราแทบไม่ต้องกังวลเรื่องสเป็คคอมพิวเตอร์เลย เพราะทุกยี่ห้อ/รุ่น ที่มีวางขายในท้องตลาด มีสเป็คที่เร็วและแรงมากจนเกินความจำเป็นในการใช้งานทั่วๆไปแล้ว
- ระบบปฏิบัตการ : Mac OS X 10 หรือ Windows 7 หรือสูงกว่า
- ซีพียู : Intel Core i3 3.0 GHz หรือสูงกว่า
- แรม : 8 GB (ขั้นต่ำ 4 GB)
- ฮาร์ดดิสก์ : 1 TB
- จอมอนิเตอร์
- พอร์ต USB 2.0 , USB 3.0
- DVD-ROM
- การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อดาวน์โหลดหรืออัพเดตซอฟต์แวร์ต่างๆ
Monitor
จอภาพก็ถือว่าสำคัญสำหรับงานที่ต้องทำงานบน Timeline เพราะคือพื้นที่หลักในการทำงานของเรา แนะนำว่าควรเลือกจอภาพที่มีความกว้างมากๆ หรือที่เรียกกันว่า Wide Screen จะดีมาก
อุปกรณ์สำรองไฟฟ้า
- ระบบสำรองไฟ (Power Backup) – จะมีแบตเตอรี่ด้านใน จะถูกชาร์ทไฟไว้เมื่อมีไฟฟ้า และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ ก็จะแปลงไฟแบตเตอรี่นั้นให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ 110/240 V เพื่อจ่ายให้คอมพิวเตอร์ให้ยังคงทำงานได้อีกระยะนึง และเพื่อให้เรามีเวลาพอที่จะ Save งานได้ทันท่วงที ลองคิดดู… นั่งทำเพลงมาทั้งวัน พอเกิดไฟฟ้าดับ ทุกอย่างก็หายไปในพริบตา (ถ้ายังไม่ได้ Save งานไว้)
- ระบบรักษาแรงดัน (Power Stabilizer) – ระบบนี้จะรักษาแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ ไม่กระเพื่อม เช่น เมื่อไฟฟ้าตกก็จะช่วยเติมกระแสไฟขึ้นให้เท่าเดิม และเมื่อกระแสไฟฟ้าเกินก็จะกันไว้ คอมพิวเตอร์ก็จะได้รับกระแสไฟฟ้าคงที่ ส่งผลให้ทำงานได้ดี
- ระบบกรองกระแสไฟฟ้า (Power Conditioner) – ระบบนี้จะกรองสิ่งเจือปนสารพัดออกจากกระแสไฟฟ้า ไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของคอมพิวเตอร์